Marie Louise (1791-1847)

จักรพรรดินีมารี หลุยส์ (๒๓๓๔-๒๓๙๐)

​​​​​     จักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงเป็นพระมเหสีองค์ที่ ๒ ในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* และเป็นองค์สมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* หรือราชวงศ์ออสเตรีย (House of Austria) ที่เก่าแก่ของยุโรป ใน ค.ศ. ๑๘๑๐

ขณะดำรงพระยศอาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย ได้เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งหวังจะให้กำเนิดองค์รัชทายาทที่มีสายพระโลหิตของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ มีพระเกียรติยศสูงสุดราชวงศ์หนึ่งของยุโรปทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชโอรสร่วมกัน ๑ พระองค์หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สิ้นอำนาจ จักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงได้รับสิทธิปกครองรัฐเล็ก ๆ ๓ แห่งในอิตาลีและมีพระยศเป็นดัชเชสแห่งปาร์มา ปีอาเชนซา และกวาสตัลลา (Duchess of Parma, Piacenza and Guastalla)
     จักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงมีชาติกำเนิดเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงของออสเตรีย ทรงเป็นพระราชธิดาองค์โตในจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕) แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* หรือพระอิสริยยศเดิม จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๖)* แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* และจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa) อดีตเจ้าหญิงแห่งราชอาณาจักรซิซีลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ ณ กรุงเวียนนาขณะที่พระราชบิดายังคงทรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร จักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงมีพระนามเดิมว่า มารีอา หลุยส์ เลโอโปลดีนา ฟรันซิสคา เทเรซีอา โยเซฟา ลูซีอา (Maria Luise Leopoldina Franziska Theresia Josepha Luzia) และทรงพระยศเป็นราชกุมารีและอาร์ชดัชเชสแห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Princess Imperial and Archduchess of Austria) และพระราชกุมารีแห่งฮังการีและโบฮีเมีย (Princess Royal of Hungary and Bohemia)
     อาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ทรงเจริญพระชันษาในขณะที่นานาประเทศและมหาอำนาจยุโรปรวมทั้งออสเตรียได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และการเข้าสู่สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* และสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓ พรรษา พระญาติ ผู้ใหญ่คือสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette)* พระมเหสีในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒)* แห่งฝรั่งเศสซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอัยยิกาก็ถูกศาลปฏิวัติ (Revolutionary Tribunal) ตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีน (guillotine) การสิ้นพระชนม์อย่างอเนจอนาถขององค์สมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์กดังกล่าวนับเป็นเรื่องสลดใจในราชสำนักเวียนนาเป็นอย่างยิ่งซึ่งต่อมาได้มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะพระนิสัยของอาร์ชดัชเชสมารีหลุยส์ให้เกลียดชังฝรั่งเศส
     หลังจากฝรั่งเศสได้รับการสถาปนาเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๘๐๔ แล้ว จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้ก่อสงครามหลายครั้งเพื่อขยายอำนาจของฝรั่งเศส และทำให้นานาประเทศมหาอำนาจซึ่งประกอบด้วยออสเตรีย รัสเซีย และอังกฤษรวมตัวกันในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (The Third Coalition) เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ออสเตรียต้องเข้าสู่สงครามอันยืดเยื้อกับฝรั่งเศสและประสบความพ่ายแพ้หลายครั้ง ขณะเดียวกันจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่องค์ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กทรงดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิเป็นเวลาเกือบ ๔ ศตวรรษก็ต้องสลายตัวลงจากการจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้นและทำให้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ จำเป็นต้องสละมงกุฎของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ นอกจากนี้ ออสเตรียยังต้องปราชัยอย่างยับเยินอีกครั้งจากการกระทำของฝรั่งเศสในยุทธการที่เมืองวากราม (Battle of Wagram) ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๙ และถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาเชินบรุนน์ (Treaty of Schünbrunn) หรือสนธิสัญญาสงบศึกแห่งเวียนนา (Peace Treaty of Vienna) โดยออสเตรียถูกฝรั่งเศสบังคับให้เป็นพันธมิตร ดังนั้นจึงนับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ได้นำความเสื่อมเสียมาสู่เกียรติภูมิของออสเตรียและพระเกียรติยศของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเป็นอันมาก
     ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กับจักรพรรดินีโชเซฟีน(Josephine) พระมเหสีองค์แรกก็เริ่มจืดจางลง กอปรกับจักรพรรดินีไม่ทรงมีรัชทายาทที่จะสืบทอดราชสมบัติของราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงคิดจะหย่าร้างกับพระมเหสีและอภิเษกสมรสใหม่ ในระยะแรกราชสำนักฝรั่งเศสพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์ โรมานอฟ (Romanov)* แห่งรัสเซียซึ่งในขณะนั้นก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสเช่นกัน แต่ไม่ได้รับคำตอบ อย่างไรก็ดี เมื่อคริสตจักรยินยอมให้การอภิเษกสมรสระหว่างพระองค์กับจักรพรรดินีโชเซฟีนเป็นโมฆะในวันที่ ๑๒ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๐ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กลับทรงเบนความสนพระทัยไปยังราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่เก่าแก่กว่าเพื่อให้สายพระโลหิตที่จะประสูติต่อไปในอนาคตเป็นที่ยอมรับของราชสำนักต่าง ๆ ของยุโรป ดังนั้น เจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Clemens Fürst von Metternich)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรียที่มีความสนิทสนมกับราชสำนักตุยเลอรี (Tuileries) และเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปีจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะกอบกู้ความตกต่ำของออสเตรียและราชวงศ์ฮับส์บูร์กโดยโน้มน้าวให้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ พระราชทานอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษาให้อภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและการดำรงพระเกียรติยศของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็จะช่วยป้องกันมิให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์และทำให้ออสเตรียกลายเป็นรัฐบริวาร (client state) ของจักรวรรดิฝรั่งเศสด้วย
     หลังจากที่จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ พระราชทานอนุญาตด้วยเหตุผลทางการเมืองดังกล่าว งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กับอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ก็จัดขึ้นในกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๐ โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ มิได้เสด็จมาร่วมด้วยแต่ทรงส่งตัวแทนมาเข้าพิธีแทนพระองค์ ต่อมาในเดือนเดียวกันอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ก็เสด็จพระดำเนินไปยังกรุงปารีสเพื่อประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสอีกครั้งกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในระหว่างวันที่ ๑-๒ เมษายน การอภิเษกสมรสดังกล่าวนี้แม้จะเป็นพระราชประสงค์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แต่การหย่าขาดกับอดีตจักรพรรดินีโชเซฟีนที่คนฝรั่งเศสจำนวนมากรวมทั้งบุคคลในราชสำนักให้ความเห็นอก เห็นใจก็ทำให้ "จักรพรรดินีพระองค์ใหม่" ได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชา ขณะเดียวกันก็ทำให้จักรพรรดินีพระองค์ใหม่ทรงมีทัศนคติต่อฝรั่งเศสในเชิงลบมากยิ่งขึ้น
     อย่างไรก็ดี การปรากฏพระองค์ของอาร์ชดัชเชส มารี หลุยส์ หรือพระอิสริยยศใหม่ "จักรพรรดินีมารี หลุยส์" ก็นำความปลาบปลื้มพระทัยมาสู่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่มีพระชันษาสูงกว่า ๒๓ ปีเป็นอันมากการเสด็จไปฉลองการอภิเษกสมรสเป็นการส่วนพระองค์ ณ เมืองกงเปียญ (Compiègne) จึงเป็นช่วงระยะเวลาที่มีความสุขมากของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ พระองค์ทรงลุ่มหลงและมีพระทัยรักใคร่ในองค์จักรพรรดินีที่เปล่งปลั่งด้วยวัยสาวเป็นอันมาก แต่ในทางตรงกันข้าม ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองคู่ร่วมกันเป็นเวลา ๔ ปีนั้น แม้จักรพรรดินีมารี หลุยส์จะทรงชื่นชมพระบารมีในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อย่างมาก แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงแสดงพระทัยผูกพันรักใคร่ในพระราชสวามีเลย
     หลังการอภิเษกสมรสได้ ๑ ปี จักรพรรดินีมารีหลุยส์ก็มีพระประสูติการพระราชโอรสเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๑ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่าเจ้าชายฟรองซัว ชาร์ล โชแซฟ โบนาปาร์ต (Franςois Charles Joseph Bonaparte) และได้รับสถาปนาพระ อิสริยยศเป็น "กษัตริย์แห่งโรม" (King of Rome) อย่างไรก็ดี จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ พระราชบิดาซึ่งทรงหวังอย่างยิ่งที่จะมีพระราชโอรสไว้สืบราชบัลลังก์ก็ไม่ทรงมีโอกาสมากนักที่จะชื่นชมพระราชโอรสองค์นี้เพราะในปีต่อมาพระองค์ก็ทรงก่อสงครามกับรัสเซียและยกกองทัพบุกกรุงมอสโก แม้กองทัพฝรั่งเศสจะประสบชัยชนะ แต่ขณะที่ถอนทัพกลับก็ถูกกองกำลังรัสเซียใช้วิธีการแบบจรยุทธ์โจมตีจนทหารจำนวนมากเสียชีวิตลง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ขณะที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงทำศึกกับรัสเซียนี้ จักรพรรดินีมารี หลุยส์ก็ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระเจ้าโจเซฟ (Joseph ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๑๓) แห่งสเปนซึ่งเป็นพระเชษฐาในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ด้วย
     เมื่อฝรั่งเศสปราชัยต่อกองทัพพันธมิตรที่มีออสเตรียเข้าร่วมด้วย และจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต้องยินยอมลงพระนามสงบศึกและสละราชสมบัติตามสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainebleau) ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ นั้นจักรพรรดินีมารี หลุยส์จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะเสด็จกลับกรุงเวียนนาพร้อมด้วยเจ้าชายฟรองซัว พระราชโอรสและทายาทพระองค์เดียวของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อีกทั้งยังทรงปฏิเสธที่จะเสด็จตามจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ไปยังเกาะเอลบา (Elba) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตามที่ข้อตกลงของสนธิสัญญาฟงแตนโบลให้สิทธิแก่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในการปกครองและอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะเอลบาตลอดพระชนมชีพ อย่างไรก็ดี จักรพรรดินีมารี หลุยส์ก็ไม่ทรงปฏิเสธเงื่อนไขอื่นในสนธิสัญญาฟงแตนโบลที่จะให้พระองค์ครอบครองราชรัฐเล็ก ๆ ๓ แห่งในแหลมอิตาลี คือ ปาร์มา ปีอาเชนซา และกวาสตัลลา ที่ราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* เคยปกครองมาก่อนเป็นเครื่องตอบแทนในฐานะเป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ที่มีบทบาทสำคัญในการล้มล้างอำนาจจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และพระองค์ยังเป็นอดีตพระจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศสเพื่อผดุงพระเกียรติยศต่อไปโดยราชรัฐเหล่านี้สามารถตกทอดแก่พระราชโอรสและผู้สืบสายพระโลหิตของพระองค์ได้ การปฏิเสธที่จะเสด็จไปใช้ชีวิตร่วมกับพระราชสวามี ณ เกาะเอลบาได้สร้างความขุ่นเคืองพระทัยให้แก่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นอันมากและทรงข่มขู่ที่จะลักพาพระองค์ด้วยพละกำลังอย่างไรก็ดี ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลาย ก็เกิดเหตุการณ์ สมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม-๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงหนีออกจากเกาะเอลบาและยึดอำนาจการปกครองฝรั่งเศสจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๔)* การละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพและความปราชัยอย่างยับเยินในยุทธการที่ตำบลวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* ในเวลาต่อมาจึงทำให้ฝ่ายพันธมิตรลงโทษจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อย่างเข้มงวดและลงโทษฝรั่งเศสอย่างรุนแรง
     อย่างไรก็ดี แม้ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ยังคงให้สิทธิแก่จักรพรรดินีมารี หลุยส์ในการปกครองราชรัฐปาร์มา ปีอาเชนซา และกวาสตัลลาเหมือนเดิม แต่การที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาฟงแตนโบล กลับไปปกครองฝรั่งเศสพร้อมกับทำสงครามกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อีก มีผลให้จักรพรรดินีมารี หลุยส์ต้องสูญเสียพระอิสริยยศจักรพรรดินีและมีตำแหน่งเป็นเพียงดัชเชสแห่งราชรัฐปาร์มา ปีอาเชนซา และกวาสตัลลาเท่านั้น อีกทั้งใน เวลาต่อมาก็ทรงถูกตัดสิทธิ์ที่จะให้ทายาทสืบทอดราชสมบัติและอำนาจปกครองนครรัฐเหล่านี้ด้วย ส่วนเจ้าชายฟรองซัวก็ถูกแยกพระองค์จากพระราชมารดาในระหว่างเหตุการณ์สมัยร้อยวัน และต่อมาทรงได้รับการสถาปนาจากจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ เป็นดุ๊กแห่งไรช์ชตัดท์ (Duke of Reichstadt) ตามฐานันดรศักดิ์ที่ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ในพระองค์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา อดีตจักรพรรดินีมารี หลุยส์ก็ไม่ทรงมีโอกาสพบและอภิบาลพระราชโอรสอีก ดุ๊กแห่งไรช์ชตัดท์ทรงถูกเลี้ยงดูแบบกักบริเวณในพระราชวังเชินบรุนน์ เพื่อป้องกันมิให้ผู้สนับสนุนราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonapartist) คิดก่อการปฏิวัติและสถาปนาให้พระองค์เป็นองค์ประมุขของฝรั่งเศส อันจะเป็นการละเมิดต่อข้อตกลงของที่ ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาและอาจก่อให้เกิดมหาสงครามได้อีก
     อดีตจักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงพำนักในอิตาลีตลอดพระชนมชีพ ทรงมีพระโอรสและพระธิดากับอาดัม-อาดัลแบร์ท เคานต์แห่งไนพ์แพร์ก (Adam-Adalbert, Count of Neipperg ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๘๒๙) ชู้รักซึ่งเป็นผู้พาพระองค์เสด็จจากฝรั่งเศสไปยังออสเตรียหลังจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ ล่มสลาย จำนวน ๓ คน คือ ๑) อัลแบร์ติน เคาน์เตสแห่งมอนเตเนลลาโต (Albertine, Countess of Montenellato ค.ศ. ๑๘๑๗-๑๘๖๗) ๒) วิลเฮล์ม อัลเบรชท์ เคานต์แห่งมอนเทนูโอโว (Wilhelm Albrecht, Count of Montenuovo ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๙๕) ต่อมา ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งมอนเทนูโอโว (Prince of Montenuovo) และ ๓) มาทิลเดอ เคาน์เตสแห่งมอนเตเนลลาโต (Mathilde, Countess of Montenellato ค.ศ. ๑๘๒๒- ?) โดย ๒ คนแรกเป็นลูกนอกสมรส ส่วนคนที่ ๓ กำเนิดหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สวรรคตแล้วและอดีตจักรพรรดินีมารีหลุยส์ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสอย่างถูกต้องกับเคานต์แห่งไนพ์แพร์กตามข้อกำหนดในศาสนา แต่ก็เป็นการอภิเษกสมรสที่ละเมิดกฎข้อห้ามของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเพราะคู่สมรสมีฐานะต่ำกว่า ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๔ หลังจากเคานต์แห่งไนพ์แพร์กเสียชีวิตพระองค์ก็อภิเษกสมรสที่ละเมิดกฎข้อห้ามอีกกับชาร์ล เรอเน กงต์ เดอ บงแบล (Charles-Rene, Comte de Bombelles) ซึ่งเป็นสมุหราชมณเทียรของราชสำนักปาร์มา
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ อดีตจักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงมีโอกาสพบกับดุ๊กแห่งไรช์ชตัดท์ พระราชโอรสที่ประสูติจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๗ ปีและเป็นครั้งสุดท้ายขณะที่ดุ๊กแห่งไรช์ชตัดท์ประชวรหนักด้วยวัณโรคและใกล้จะสิ้นพระชนม์ อดีตจักรพรรดินีมารี หลุยส์ทรงมีพระชนม์ยืนยาวไปอีกหลายปีและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ ณ ราชรัฐปาร์มาขณะมีชนมายุ ๕๖ พรรษา.



คำตั้ง
Marie Louise
คำเทียบ
จักรพรรดินีมารี หลุยส์
คำสำคัญ
- อัลแบร์ติน เคาน์เตสแห่งมอนเตเนลลาโต
- อาดัม-อาดัลแบร์ท เคานต์แห่งไนพ์แพร์ก
- มาทิลเดอ เคาน์เตสแห่งมอนเตเนลลาโต
- ไรช์ชตัดท์, ดุ๊กแห่ง
- อัลเบรชท์, วิลเฮล์ม เคานต์แห่งมอนเทนูโอโว
- เอลบา, เกาะ
- ยุทธการที่ตำบลวอเตอร์ลู
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- บงแบล, ชาร์ล เรอเน กงต์ เดอ
- มารี หลุยส์, จักรพรรดินี
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- สมัยร้อยวัน
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- ออสเตรีย, ราชวงศ์
- ซิซีลีทั้งสอง, ราชอาณาจักร
- ฟรานซิสที่ ๑, จักรพรรดิ
- มารีอา หลุยส์ เลโอโปลดีนา ฟรันซิสคา เทเรซีอา โยเซฟา ลูซีอา
- ฟรานซิสที่ ๒, จักรพรรดิ
- ปาร์มา ปีอาเชนซาและกวาสตัลลา,ดัชเชสแห่ง
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓
- สงครามนโปเลียน
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- มาเรีย เทเรซา, จักรพรรดินี
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- โบนาปาร์ต, ราชวงศ์
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- เมทเทอร์นิช, เคลเมนส์ ฟอน
- โชเซฟีน, จักรพรรดินี
- ตุยเลอรี, ราชสำนัก
- โจเซฟ, พระเจ้า
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- ออสเตรีย, จักรวรรดิ
- สนธิสัญญาเชินบรุนน์
- สนธิสัญญาสงบศึกแห่งเวียนนา
- ยุทธการที่เมืองวากราม
- กงเปียญ, เมือง
- สนธิสัญญาฟงแตนโบล
- มารี อองตัวแนต, สมเด็จพระราชินี
- บูร์บง, ราชวงศ์
- โบนาปาร์ต, ฟรองซัว ชาร์ล โชแซฟ,เจ้าชาย
- ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1791-1847
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๓๔-๒๓๙๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf